ขนฟู หูตั้ง หางพวง ไทยบางแก้ว (Thai Bangkaew)

ความน่ารักของสุนัขบางแก้ว

 

@ อนุวัฒน์จัดให้ "สุนัขบางแก้ว"

 

อาหารและการให้อาหาร

อาหารที่ดีเป็นมูลฐานสำคัญสำหรับการเพาะเลี้ยงที่ดี สุนัขก็เช่นเดียวกันกับมนุษย์ต้องการอาหารนับตั้งแต่ผสมติดในท้อง เกิดมาสู่โลก จนถึงตายไป เพื่อการมีชีวิตอย่างมีสุขภาพสมบูรณ์ สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงนั้น หากแยกออกตามคุณค่าทางโภชนาการ ก็สามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ (แร่ธาตุ) และน้ำ
 
หลักการใช้อาหาร
ในการใช้อาหารสำหรับเลี้ยงสุนัข มีหลักสังเกตและข้อปฏิบัติที่ควรทราบไว้ดังนี้
1. สุนัขมีขนาดกระเพาะเล็ก ดังนั้น จึงต้องให้เนื้อหรืออาหารสำเร็จและเมื่อเทียบตามส่วน แล้วอาหารที่จะย่อยนั้น ควรมีขนาดเล็กเช่นเดียวกัน
2. ถ้าเป็นสุนัขให้นมลูก อาหารที่กินเข้าไปส่วนใหญ่จะจ่ายออกไปเลี้ยงลูกสุนัขโดยทาง น้ำนม ลูกสุนัขในระยะแรกจึงควรเลี้ยงด้วยนมแม่จะดีกว่าการใช้นมวัวเลี้ยง ซึ่งให้ธาตุอาหารน้อยกว่า ในระยะต่อมาก็ควรให้อาหารประเภทเนื้อ หรืออาหารสำเร็จให้มาก จึงจะถือว่าเป็นวิธีบำรุงเลี้ยงที่ถูกต้อง
3. ในกระเพาะสุนัขมีกรดไฮโดรคลอริคในปริมาณที่สูง ดังนั้นจึงช่วยทำให้การย่อย อาหารประเภทกระดูกและก้อนเนื้อใหญ่ ๆ เป็นไปโดยง่ายขึ้น
4. ฟันสุนัขปรับตัวของมันสำหรับกัดและตัดเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับการบดเคี้ยวเช่นสัตว์ ประเภทกินเมล็ดพืช จริงอยู่แม้ว่าจะคุ้นเคยกับการกินอาหารได้เกือบทุกชนิดก็ตาม แต่โครงกระดูกและ ร่างกายของมันก็ยังคงเป็นสัตว์กินเนื้ออยู่นั่นเอง ด้วยหลักนี้จึงถือว่าเนื้อเป็นอาหารธรรมชาติ และเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสุนัขด้วยประการทั้งปวง
5. สุนัขมีน้ำลายสำหรับทำลายสิ่งบูดราได้ในปริมาณที่น้อย และการย่อยแป้งต้องใช้กรด ไฮโดรคลอริคในปริมาณที่สูง ด้วยเหตุนี้ กระเพาะสุนัขจึงไม่ปรับตัวสำหรับการย่อยแป้ง (แต่แป้งจะถูกส่งไปย่อยในลำไส้เล็ก)
หากระลึกถึงความจริงต่าง ๆ จากข้อ 1-5 นี้ รวมทั้งประเภทของอาหารสุนัขดังได้กล่าวมาแล้ว จะได้หลักในการใช้อาหารสำหรับเลี้ยงสุนัขว่าจะต้องเป็นประเภทเสริมสร้างร่างกาย สร้างพลังงาน ให้ความร้อน รวมทั้งให้วิตามิน และเกลือแร่ที่สำคัญ ดังนั้น ส่วนประกอบของอาหารสุนัขจึงมีดังนี้
1. เนื้อ ซึ่งมีโปรตีนและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น เนื้อแกะ
2. ไขมัน ให้ความร้อน และวิตามินเอ ดี
3. ผัก ข้าว และเมล็ดธัญพืชทุกชนิดทำให้เกิดพลังงานและวิตามินบี วิตามินอี
4. ผักใบเขียวดิบ ๆ หรือต้มอ่อน ๆ มีเกลือแร่ วิตามินซี และวิตามินอื่น ๆ
5. ไข่ ซึ่งมีไขมัน เหล็ก ฟอสฟอรัส และวิตามินต่าง ๆ เช่น เอ ดี เป็นต้น เพื่อช่วย การเจริญเติบโตของร่างกายและต้านทานโรค
6. ตับปลาหรือตับสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง นับว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมากทีเดียว
เมื่อได้หลักการในเรื่องการให้อาหารสุนัขดังนี้แล้ว การพิจารณาในขั้นต่อไปก็คือ ความจำเป็นถึง การให้อาหารสุนัข ในทางปฏิบัติสุนัขส่วนมากพอใจที่จะได้รับอาหารเพียงวันละ 1-2 เวลาเท่านั้น คือ เช้าและเย็น การให้อาหารในเวลาหนึ่งๆ ไม่ควรให้มันกินมากจนล้นกระเพาะ ทั้งนี้ก็เพราะว่าจะทำให้ระบบการย่อยอาหารของมันต้องทำงานหนักเกินไปและทรุดโทรมเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการได้รับอาหารที่ผิดธรรมชาติของมัน
ถ้าเป็นอาหารประเภทแป้งหรือน้ำต้มเนื้อรวมกับผัก ควรให้สุนัขกินในมื้อแรก ส่วนอาหารประเภทเนื้อควรให้มื้อหลังจะเป็นการดีอย่างยิ่ง แต่จะอย่างไรก็ตาม อย่าได้ให้ทันทีก่อนหรือหลังการออกกำลัง มาก ๆ ของสุนัข
สำหรับการเลี้ยงสุนัขในปัจจุบัน ถ้าผู้เลี้ยงใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขที่มีขายอยู่ในขณะนี้เลี้ยงแล้ว ส่วนใหญ่จะได้คุณค่าทางอาหารที่เพียงพอกับความต้องการ แต่ถ้าในท้องถิ่นนั้นหาซื้อได้ยากก็ควรใช้อาหารที่หาได้เท่าที่มี โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารนั้นด้วย
 
อาหารสำหรับสุนัขโตเต็มที่ (วัยหนุ่มสาว)
เมื่อสุนัขโตเต็มที่ผู้เลี้ยงอาจให้อาหารวันละ 1 หรือ 2 ครั้งก็ได้ ตามแต่จะสะดวก แต่อาหารนั้นจะต้องมีคุณภาพสูง เช่น อาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อแกะ หรือจะเป็นอาหารสำเร็จรูป ซึ่งปริมาณการให้อาหารสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ โดยเฉลี่ยไม่เกิน 2 ถ้วยตวง/1ตัว ควรให้ในตอนเย็นจะเป็นเวลาที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้สุนัขไม่กวนในเวลากลางคืน
 
อาหารสำหรับสุนัขแก่
สุนัขแก่มีความต้องการอาหารผิดจากสุนัขหนุ่มสาว คือต้องการอาหารที่ย่อยง่าย มีโปรตีนสูง แต่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อย อาหารที่ให้ไม่ควรแข็งหรือเหนียว เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องฟัน และควรให้กินอาหารวันละ 2 เวลาจะดีกว่าให้กินวันละครั้งในจำนวนมาก ๆ ในการเลี้ยงสุนัขแก่ของท่านให้มีอายุยืนนานนั้น ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องเลี้ยงสุนัขแก่ให้แข็งแรงอยู่ หากพบว่าสุนัขแสดงอาการผิดปกติควรรีบตรวจรักษาโดยเร็ว
 
อาหารสำหรับสุนัขเจ็บป่วย
หลักการให้อาหารสุนัขขณะเจ็บป่วยก็คือ ต้องให้บ่อย ๆ เพราะขณะเจ็บป่วยกำลังในการย่อยของสุนัขจะอ่อนลง หากให้อาหารมากไปแล้ว นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้วยังไปรบกวนอวัยวะเหล่านั้นด้วย ถ้าทำได้แล้วทางที่ดีควรให้สุนัขเลือกกินอาหารเองตามใจชอบ การให้อาหารโดยการบังคับจะทำก็ต่อเมื่อสุนัขไม่ยอมกินอาหารเหล่านั้น
หากสุนัขแสดงอาการไม่สนใจต่อก้อนเนื้ออันโอชะที่หยิบยื่นให้แก่มันแล้ว ผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องให้อาหารข้นโดยการป้อน ในการป้อนนี้ควรป้อนอาหารที่เป็นน้ำหรือของเหลวอ่อน ๆ ด้วยช้อนหรือใช้ทัพพีปากแคบ ๆ วิธีป้อนก็ให้ค่อย ๆ พยุงศีรษะสุนัขขึ้นแล้วอ้าริมฝีปากให้ถ่างออกเป็นกระพุ้ง แล้วค่อย ๆ เทอาหารลงในปาก เมื่อป้อนอาหารเสร็จแล้วควรล้างและเช็ดเศษอาหารที่ปากออกให้หมด อย่างไรก็ตาม อาหารไม่ใช่เป็นยารักษาโดยตรง เพียงแต่ช่วยให้สุนัขป่วยอยู่ได้ฟื้นตัวหรือหายเป็นปกติเร็วขึ้น
 
อาหารสำหรับสุนัขท้องเสีย
อาหารที่ให้จะต้องย่อยได้ง่ายและไม่ขัดขวางการหายของแผลในกระเพาะและลำไส้ ถ้ามีอาการ ท้องเสียรุ่นแรงหรือมีอาเจียนร่วมด้วย ควรนำสัตว์ไปพบสัตว์แพทย์ เพื่อให้น้ำเกลือ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป เพราะฉะนั้น อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยได้ง่าย ไม่ระคายเคืองกระเพาะและลำไส้ มีพลังงานมากเพียงพอ ซึ่งได้จากพวกคาร์โบไฮเดรต แต่ไขมันไม่ควรให้มาก ลักษณะอาหารเช่นนี้ยังใช้ได้ในลูกสุนัขที่เพิ่งหย่านม เนื่องจากไม่ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร
 
อาหารสำหรับลูกสุนัขท้องผูก
อาหารควรมีสารเยื่อใยมาก เพื่อช่วยการบีบตัวของลำไส้และเพิ่มปริมาตรของลำไส้ ทั้งยังช่วยดูดน้ำในส่วนของลำไส้ใหญ่อีกด้วย
1. ให้อาหารอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ให้ดันก้อนอาหารไปยังส่วนท้าย
2. พาสุนัขออกกำลังบ้างสัก 30-60 นาที หลังจากกินอาหาร เพื่อกระตุ้นการถ่ายอุจจาระและการบีบตัวของกล้ามเนื้อท้อง
3. ตรวจดูที่ก้นสุนัขด้วย เพราะอาการท้องผูกอาจเกิดจากโรคทางทวารหนักหรือได้รับการกระแทกจนบาดเจ็ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้
4. หาน้ำสะอาดให้กิน
5. จำกัดอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตและไขมัน
จะเห็นได้ว่าอาหารนี้มีพลังงานต่ำ เพราะให้คาร์โบไฮเดรตและไขมันน้อยลง แต่มีสารเยื่อใยเพิ่มมาก ขึ้น จะไม่ค่อยย่อยและยังอมน้ำไว้ได้มากในส่วนลำไส้ใหญ่อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยลดอาการหิวของสุนัขได้ อาหารสูตรนี้ยังเหมาะกับลูกสุนัขที่อ้วนเกินไป และสุนัขที่เป็นโรคเบาหวาน คือจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ส่วนแม่สุนัขที่กำลังท้องและให้นมลูก ไม่ควรให้อาหารนี้รวมทั้งสุนัขที่เป็นโรคไตด้วย
 
อาหารสำหรับสุนัขท้อง
สำหรับสุนัขแม่พันธุ์ต้องบำรุงดูแลอย่างใกล้ชิด เราต้องให้อาหารมากกว่าปกติ อาหารที่ใช้เลี้ยงสุนัขท้องจะต้องมีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินสูง แต่ไขมันต่ำ ขนาดและปริมาณที่ให้ในระยะ 6 สัปดาห์แรกของการตั้งท้องให้ในขนาดเดียวกับสุนัขโตเต็มวัยและค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นใน 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด โดยให้เพิ่มอาหารขึ้นประมาณ 15-20% ของน้ำหนักตัว
 
อาหารสำหรับลูกสุนัข
ลูกสุนัขที่อยู่ในระหว่างกินนมแม่และหลังหย่านมใหม่ ๆ เป็นช่วงที่ลูกสุนัขต้องการโปรตีนสูงมาก อายุจากแรกเกิดถึง 1 เดือน โปรตีนจะได้จากน้ำนมแม่ แต่หลังจาก 1 เดือนไปแล้ว แม่สุนัขจะแสดงอาการเกรี้ยวกราดขู่คำราม เมื่อลูกของมันจะกินนม ช่วงนี้เราจะต้องให้ลูกสุนัขได้อาหารจากจานใส่อาหารแทน กล่าวคือ หลังจากที่ลูกสุนัขได้คลอดออกมาสู่โลกภายนอกใหม่ ๆ จะยังไม่ลืมตา แต่จะใช้จมูกนำทางและตะเกียกตะกายหาเต้านมดูดเอง ดังนั้น เพื่อให้ลูกสุนัขได้รับน้ำนมเหลืองจากแม่เร็วขึ้น ควรช่วยจับลูกสุนัขใส่เต้านมแม่ ต่อไปลูกสุนัขจะหาเต้านมกินได้เอง จากระยะนี้ต่อไปผู้เลี้ยงเพียงแต่คอยระวังอย่าให้แม่สุนัขทับลูก และคอยดูแลให้ลูกสุนัขที่อ่อนแอได้มีโอกาสกินน้ำนมแม่อิ่มเท่ากัน เพราะตัวที่แข็งแรงกว่าจะแย่งเต้านมและดูดกินหมดก่อนเสมอ
สำหรับลูกสุนัขที่มีขนาดครอกใหญ่คือ มีจำนวนมากเกินไป น้ำนมแม่มีไม่พอให้กิน ควรเพิ่มน้ำนมโคให้กินทดแทน เพื่อป้องกันไม่ให้แม่สุนัขมีสุขภาพทรุดโทรมลงมาก
ควรหย่านมเมื่อลูกสุนัขมีอายุได้ประมาณ 4-6 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนขึ้นไปเป็นอย่างน้อย การหัดให้ลูกสุนัขหย่านมนี้อาจทำได้โดยการให้อาหารทดแทน ซึ่งผสมได้โดยใช้น้ำนมอุ่น ๆ 1 ถ้วย ผสมกับน้ำหวาน 1 ชิ้น และน้ำอุ่น 1 ถ้วย ใส่อาหารผสมนี้ในจานปากกว้างและตื้น ๆ หัดให้ลูกสุนัขกินโดยจับหัวลูกสุนัขให้ปากจุ่มลงในจานอาหาร ลูกสุนัขจะเลียและเริ่มกินได้เอง ต่อมาก็ให้อาหาร เช่น เนื้อ หัวปลา ลูกชิ้น และไข่ เป็นต้น เพิ่มลงไปในอาหารผสมทีละน้อยจนกระทั่งกินอาหารนี้ได้โดยไม่ต้องมีน้ำนม
ในระหว่างการหัดให้หย่านมนี้ควรแยกแม่ออกจากลูกสุนัข และให้ลูกสุนัขกินนมห่างขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับให้อาหารดังกล่าวเสริมทดแทน จนกระทั่งไม่ต้องกินนมแม่อีกต่อไป เมื่ออายุได้ 5-6 เดือนขึ้นไป ก็ให้กินอาหารประมาณ 3 ? % ของน้ำหนักตัว ควรให้อาหารวันละ 3 เวลาประมาณ 3 เดือนแล้วจึงค่อยลดลงให้เหลือวันละ 2 เวลา สำหรับลูกสุนัขที่มีอายุ 8-9 เดือนเต็ม
ลูกสุนัขมีความต้องการโปรตีนสูงถึง 2 เท่าของสุนัขที่โตเต็มที่ เกลือแร่ที่ลูกสุนัขต้องการมากคือ แคลเซียมและฟอสฟอรัส ดังนั้น อาหารที่ควรให้ลูกสุนัขคือ เนื้อบด ถ้าไม่สามารถบดได้อาจใช้วิธีสับ แล้วนำไปต้มเพื่อป้องกันพยาธิ บางมื้ออาจเสริมไข่ต้ม การทดแทนเกลือแร่เราอาจให้ตับต้มหรือที่ให้เด็กอ่อน แต่ไม่ควรให้กระดูกในระยะนี้ เนื่องจากระบบย่อยอาหารของลูกสุนัขยังทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกระดูกไก่หักจะมีความคมมาก อาจติดหรือแทงอวัยวะย่อยอาหารได้ การให้นมผงละลายน้ำที่มีขายสำหรับลูกสุนัข หรือนมผงสำหรับเด็กอ่อน นอกจากจะสามารถให้เกลือแร่ที่ลูกสุนัขต้องการแล้ว ยังมีวิตามินตามที่มันต้องการด้วย