ความน่ารักของสุนัขบางแก้ว
@ อนุวัฒน์จัดให้ "สุนัขบางแก้ว"
การฝึกให้เชิื่อง
- มื่อไหร่ที่ควรเริ่มฝึก
- คุณไม่ควรจริงจังกับการฝึกสุนัขมากนัก ถ้าสุนัขอายุยังไม่ถึง 7-8 เดือน นักจิตวิทยาสัตว์บางคนบอกว่า ลูกสุนัขบางตัวสามารถเริ่มฝึกได้เมื่ออายุตั้งแต่ 7 สัปดาห์ แล้วเทคนิคต่าง ๆ ค่อย ๆ สอนภายหลัง แต่ จริง ๆ แล้วเรื่องของเทคนิคต่าง ๆ ปล่อยให้นักฝึกสุนัขอาชีพเป็นผู้ฝึกดีกว่า ขณะที่ลูกสุนัขของคุณยังอยู่ในช่วงต้น ๆ ของความเป็นลูกสุนัข ตั้งใจเอาชนะใจมันให้ได้ มันจะรักและนับถือคุณ การฝึกพื้นฐานจะเริ่มได้เมื่ออายุ 3-4 เดือน ช่วงอายุนี้ควรฝึกให้เดินสวยขณะที่คุณจูง นั่ง นอน ตามคำสั่ง และเข้ามาหาคุณเวลาคุณเรียกมัน
- คุณมีส่วนในการฝึก
- คุณต้องมีความอดทนในการชี้แจงให้สุนัขเข้าใจว่าแต่ละคำที่คุณออกคำสั่งนั้นหมายถึงอะไร ทำมันด้วยมือหรือเชือกจูงสำหรับฝึกก่อน ทำให้มันแน่ใจในคำสั่งด้วยเสียงของคุณ สอนมันเป็นประจำทุกวันถึงสิ่งที่คุณต้องการจะให้มันรู้ ทบทวนคำสั่งพร้อมกับแสดงอาการประกอบ สาธิตให้มันดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ให้สุนัขได้มีโอกาสรับรู้จดจำไว้
- เมื่อมันเริ่มเรียนรู้ให้ใช้เพียงคำพูดเป็นคำสั่งโดยไม่ต้องออกท่าทาง จ้ำจี้จ้ำไชกับมันบ่อย ๆ เมื่อมันทำผิดก็แก้ไขมันมันถูก แรก ๆ ก็ใจดีกับมันก่อน แล้วค่อย ๆ เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ตามความก้าวหน้าของการฝึก อย่าหมดความอดทนหรือฉุนเฉียวเสียก่อน อย่าตีมันด้วยมือหรือเชือกจูงขณะที่ฝึก เพียงแค่คุณดุมันหรือว่ามันก็รู้สึกผิดมากพอแล้ว
- เมื่อสุนัขทำในสิ่งที่คุณต้องการ ชมเชยมันพร้อมกับลูบหลังมันไปด้วย อย่าตบรางวัลสุนัขด้วยขนมหรือปฏิบัติกับมันดีเกินไปขณะฝึก สุนัขที่ชินกับนิสัยการรับรางวัลเช่นนี้จะไว้ใจไม่ค่อยได้ เพราะว่ามันจะไม่ค่อยยอมทำอะไรถ้าไม่ได้กลิ่นขนมหรือของรางวัล ถ้าหากฝ่าฝืนคำสั่งหรือทำอย่างไม่ค่อยเต็มใจ (เหลวไหล) คุณควรจะพูดกับมันดี ๆ ต่อไปมันจะดีขึ้นเรื่อย ๆ
- เสียงที่ใช้ฝึก
- เมื่อคุณฝึกสุนัขให้ใช้เสียงในการออกคำสั่งที่แข็งขันและชัดเจน ครั้งแรกคุณออกคำสั่งไปแล้วต้องยืนกรานคำสั่งเดิมไปจนกระทั่งมันเชื่อฟัง หรือแม้แต่จะฉุดมันให้มาฟังคุณก็ตามที มันต้องเรียนรู้ว่าการฝึกนั้นต่างจากการเล่น เมื่อใดที่มีการออกคำสั่งมันต้องเชื่อฟังไม่ว่าจะมีอะไรมาทำให้วอกแวกก็แล้วแต่ จงจำไว้ว่าน้ำเสียงและน้ำหนักเสียงของคุณ (ต้องไม่ดังลั่น) จะมีอิทธิพลต่อสุนัขเป็นส่วนใหญ่ ต้องพูดด้วยคำพูดที่เน้นหนักแน่น ในการใช้คำพูดระหว่างฝึกจำกัดคำสั่งของคุณให้ใช้คำเพียงแค่ 2-3 คำ ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าเปลี่ยนคำสั่ง มันเป็นการดีที่สุดถ้าจะมีผู้ฝึกสุนัขเพียงคนเดียว คนอื่น ๆ อาจใช้คำสั่งแตกต่างกันออกไป วิธีฝึกก็ต่างไปซึ่งอาจทำให้สุนัขสับสนได้ สุนัขที่ได้ยินคำสั่งประเภท "มานี่" "มาหาหน่อย" "เร็ว ๆ เข้า" หรือคำสั่งทำนองนี้แต่มีความต้องการเดียวกันคือให้มันมาหา ถ้าคุณใช้คำสั่งมากมายขนาดนี้มันจะสับสนมาก ให้ใช้คำไหนคำนั้นดีที่สุด
- บทเรียนที่ใช้ฝึก
- การฝึกเป็นงานหนักทั้งสุนัขและผู้ฝึก สุนัขเล็ก ๆ ใช้เวลาฝึกในช่วงหนึ่งได้ไม่เกิน 10 นาที ก็จะไม่อยากฝึกต่อดังนั้นควรจำกัดอย่าให้บทเรียนบทแรกยาวเกินไปนัก แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเวลาไปเป็นระยะจนกระทั่งถึง 30 นาที คุณเองก็อาจพบได้ว่าคุณก็เริ่มหมดความอดทนเหมือนกันเมื่อใกล้ ๆ จะหมดเวลาฝึก เมื่อคุณรู้สึกว่าคุณอารมณ์ไม่ดีให้หยุดฝึก ใช้เวลาที่เหลืออยู่ทบทวนบทเรียนเก่า ๆ ไปก่อน และก่อนหรือหลังบทเรียนควรมีช่วงเวลาพักเล่นด้วยไม่ใช่เล่นระหว่างเรียน แม้แต่สุนัขที่เด็กที่สุดก็จะเรียนรู้ได้เองว่าเวลาที่ต้องเรียนนั้นเป็นช่วงที่ต้องเคร่งครัดจริงจัง ส่วนความสนุกจะตามมาหลังจากนี้
- อย่าใช้เวลาในการฝึกช่วงแรก ๆ มากนัก มิฉะนั้นสุนัขก็จะเบื่อ พยายามจบบทเรียนในช่วงที่ดี ๆ ถ้าหากสุนัขไม่ได้ทำในสิ่งที่คุณต้องการนั้นเป็นเพราะคุณไม่สามารถทำให้มันจดจำได้ดีพอ
- เครื่องมือในการฝึก
- 1. เชือกที่ใช้จูงสุนัข ใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า "ตัวนำ" ดังนั้นเราจะใช้คำนี้แทน ตัวนำ ที่ดีที่สุดสำหรับฝึกนั้นเป็นผ้าทอหรือสาน ยาว 6 ฟุต ส่วนใหญ่ใช้สีทึม ๆ มอ ๆ หรือจะใช้เป็นหนังขนาดเท่ากัน หรือจะใช้แบบเป็นสีสันก็มีใช้กันอยู่บ้าง แล้วแต่คุณจะเลือก
- 2. ต้องใช้ปลอกคอฝึกสุนัขควบคู่ไปด้วย ปลอกคอฝึกส่วนใหญ่ทำด้วยไนล่อนหรือ โซ่เหล็ก ซึ่งมีห่วงติดอยู่ที่ปลายทั้งสองข้าง แล้วใช้ตัวนำคล้องกับปลายห่วงทั้งสอง ใช้ผ่อนหรือดึงบังคับสุนัข แม้ว่าจะฟังดูน่าตกใจ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้สุนัขของคุณต้องเจ็บแต่อย่างใด และมันก็จะต้องใช้ในการฝึกด้วย ควรฝึกวิธีการใช้ปลอกคอให้ถูก ปลอกคอฝึกควรจะใส่รอบคอสุนัข เพื่อคุณจะสามารถล่ามตัวนำกับห่วงตรงปลายปลอกคอ อย่าใส่ห่วงใต้คอ มันเป็นสิ่งสำคัญในการใส่ปลอกคอฝึกให้ถูก มันจะได้แน่นเวลาคุณดังตัวนำ และง่ายเวลาคุณผ่อนหรือไม่ได้รั้งตัวนำ
- 3. วิธีในการจับตัวนำก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะปลอกคอควรจะหย่อนอยู่ตลอดเวลา นอกจากเวลาดึง จับวงเชือกไว้ด้วยมือขวา ไขว้มือไปด้านข้าง ส่วนมือซ้ายจับตัวนำไว้ให้ใกล้ปลอกคอฝึกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนที่เหลือของตัวนำก็จะขมวดเป็นวงได้ (ที่คุณถือด้วยมือขวา) แนบแขนข้างนี้กับลำตัว การผ่อน ดึง หรือคลาย ทุกอย่างทำด้วยมือซ้าย ด้วยการกระตุก
- การตาม
- "การตาม" เป็นศัพท์สำหรับสุนัขที่หมายความว่า ให้สุนัขเดินไปด้านข้างของคุณชิดกับขาคุณ มีตัวนำด้วยหรือไม่มีก็ได้ ถ้าคุณอดทนและพยายามพอ คุณสามารถฝึกสุนัขให้เดินเคียงข้างคุณได้ในถนนอันแออัด หรือผ่านสุนัขตัวอื่น ๆ ได้อย่างดี ถึงตอนนี้คุณก็ได้เรียนรู้ถึงวิธีการใส่ปลอกคอ การใช้ตัวนำแล้วคุณก็พร้อมที่จะเริ่มบทเรียนแรกในการฝึกการตาม ให้สุนัขนั่งอยู่ด้านซ้าย เรียกชื่อ และใช้คำสั่ง "ตาม" เริ่มก้าวเท้าซ้ายของคุณ ดึงตัวนำเล็กน้อย เพื่อให้สุนัขได้เริ่ม ต้องเรียกชื่อมันก่อนเสมอ แล้วตามด้วยคำสั่ง เช่น "แดงตาม" การเอ่ยชื่อจะช่วยให้มันสนใจมากขึ้น ทำให้มันได้รู้ว่าคุณกำลังออกคำสั่งให้มัน (แดง คือชื่อสมมุติของสุนัขในที่นี้)
- ให้เดินอย่างกระฉับกระเฉงแต่ละก้าว เดินวนเป็นวงกลมใหญ่ หรือเดินไปเป็นสี่เหลี่ยม หรือเส้นตรงก็ได้ ขณะที่เดินแน่ใจว่าสุนัขของคุณอยู่ข้างซ้ายและชิดขาของคุณเสมอ ถ้ามันเดินล้าหลังคุณให้กระตุกตัวนำเบา ๆ ให้มันเดินให้ทันคุณ แล้วก็ชมมันว่าดีแล้วที่ทำอย่างนี้ ถ้ามันเดินนำหน้าคุณหรือออกห่างไป ให้คุณหยุดพร้อมกับกระตุกตัวนำอย่างแรง ดึงมันกลับมาอยู่ตรงที่ที่ถูก ควรชมมันทุกครั้งที่มันเดินถูกที่ถูกทาง ทันทีที่คุณกระตุกตัวนำเพื่อให้สุนัขคุณอยู่ถูกที่ก็ให้ผ่อนสายตัวนำไปด้วย อย่างลากสุนัขหรือดึงตัวนำเพราะจะเกิดการดึงกันไปดังกันมา ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย
- เพื่อให้สุนัขตั้งอกตั้งใจฝึก ต้องพูดกับมันขณะที่คุณให้มันกลับมาถูกที่คุณควรจะฝึกการเดินหันหลังกลับด้วยการกระตุกตัวนำเบา ๆ ขณะที่คุณหมุนตัวด้วย มันจะเรียนรู้ไปทีละนิดละหน่อยว่ามันต้องตั้งอกตั้งใจ หรือจะถูกกระตุกให้กลับมาอยู่ข้างตัวคุณ และคุณสามารถเปลี่ยนวิธีการไปได้เรื่อย ๆ โดยการเปลี่ยนความเร็วบ้าง หันหลังกลับ เดินตรง หรือว่าเดินซิกแซกข้ามสนามที่ใช้ฝึก เป็นต้น
- "ตาม" หมายถึง "นั่ง" ด้วย สำหรับสุนัขแล้วคำสั่งว่า "ตาม" จะหมายถึงมันต้องนั่งอยู่ข้างซ้ายของคุณด้วย เมื่อคุณหยุดโดยไม่มีคำสั่งอะไรเพิ่มขณะที่คุณฝึกให้ตาม ทำให้มันนั่งเมื่อคุณหยุด ครั้งแรกใช้คำสั่งว่า "นั่ง" แต่ต่อไปไม่ต้องออกคำสั่งอีก มันจะนึกรู้และจะนั่งได้เองเมื่อคุณหยุด และจะคอยคำสั่ง "ตาม" ใหม่ เพื่อจะลุกเดินอีกครั้ง
- การฝึกให้นั่ง
- การฝึกสุนัขให้นั่งค่อนข้างง่าย โดยให้มันยืนอยู่ข้างซ้ายมือ ให้ถือตัวนำสั้น ๆ แล้วออกคำสั่งว่า "นั่ง" ขณะออกคำสั่งให้ดึงตัวนำขึ้นพร้อมกับกดช่วงหลังของสุนัขลง แต่อย่าให้มันลงไปหมอบหรือยืนขึ้น ถ้ามันลงหมอบให้กระตุกตัวนำขึ้นจนกระทั่งมันลุกขึ้นแล้วนั่ง ถ้าหากมันทำตามคำสั่งช้า ๆ ให้ดังมันอย่างแรงจนกระทั่งมันทำตามความต้องการของเรา ให้มันอยู่ในท่านั่งสักชั่วขณะหนึ่ง แล้วค่อยผ่อนความตึงของตัวนำพร้อมกับชมมันด้วย ทวนคำสั่งอย่างหนักแน่นในขณะที่คุณจูงมันในท่านั่ง ย้ำเพื่อให้มันจำคำสั่งได้ขึ้นใจ ถ้าหากมันเคลื่อนที่ละก้อให้ทวนคำสั่งอีกครั้งแล้วให้มันนั่งลง หลังจากนี้มันก็จะนึกรู้และนั่งลงไปเองโดยไม่ต้องกดหลังมันอีก เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วแสดงว่ามันจะนั่งเองได้ ชมเชยมันบ่อย ๆ
- ให้รางวัลโดยการกระทำกับมันอย่างอ่อนโยน และชมเชยมันบ่อย ๆ ด้วยคำพูดที่นุ่มนวล
- หมอบลงหรือหมอบ
- จุดประสงค์ขั้นตอนนี้คือ ทำให้สุนัขหมอบลงกับคำสั่ง "หมอบ" หรือเมื่อออกคำสั่งด้วยมือ ให้คุณยกมือมาข้างหน้าพลิกโบกฝ่ามือลง อย่างไรก็ตาม คุณต้องทำไปจนกว่าสุนัขจะเข้าใจความหมายของคำสั่งและจะทำเองได้โดยไม่มีปฏิกิริยากึ่งบังคับจากคุณ สัญญาณมือควรจะทำควบคู่ไปกับการออกคำสั่ง คำสั่งนี้อาจจะยากไปหน่อยในช่วงแรก เพราะมันรู้สึกเหมือนคุณยกมือเพื่อจะทำร้ายมันและมันป้องกันตัวเองไม่ได้ อาจจะวิ่งเตลิดไปก็ได้ ให้เอาใจมันด้วยคำชมหรือทำกับมันดี ๆ เมื่อมันทำตามคำสั่งแล้วมันจะเรียนรู้ไปเองว่าไม่มีอะไรที่เลวร้ายเกิดขึ้น ในทางกลับกันมันจะรู้จักคำสั่งว่า "หมอบ" แล้วถ้ามันทำตามนายจะพอใจ
- อย่าเริ่มฝึกสุนัขหมอบลงจนกระทั่งมันเข้าใจคำสั่งนั่งได้เป็นอย่างดีเสียก่อน ให้สุนัขอยู่ในท่านั่งและคุณคุกเข่าอยู่ตรงหน้า ยกขาหน้าของมันด้วยมือแต่ละข้างของคุณ จับตรงเหนือข้อศอก ยกขามันขึ้นแล้วดึงลงมาที่พื้นข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ออกคำสั่งว่า "หมอบ" แล้วดึงขาหน้ามันลงมาติดพื้น
- ดึงมันลงมาที่พื้นและทำให้มันรู้ว่าท่านี้เป็นท่าที่ต้องการให้มันทำ วิธีนี้ดีกว่าจะไปบังคับให้มันทำ มิฉะนั้นจะทำให้มันรู้สึกตกใจและเริ่มจะไม่ชอบการฝึกใด ๆ เลย หมั่นพูดคุยกันมัน บอกมันให้รู้ว่าคุณดีใจ พอใจ เวลาที่มันทำตามคำสั่ง แล้วคุณจะพบว่าคุณมีความสุขกับการฝึกสุนัข
- หลังจากที่มันเริ่มเรียนรู้ เลื่อนตัวนำไปอยู่ใต้เท้าซ้ายและออกคำสั่ง "หมอบ" ในขณะเดียวกันดึงตัวนำด้วยจะช่วยให้สุนัขหมอบลง ช่วงนี้ยกมือคุณแล้วโบกลงให้สัญญาณมืออีกครั้ง อย่าหวังว่ามันจะสามารถทำได้ด้วยคำสั่งเพียงครั้งเดียว จงอดทนฝึกกับมันไปเรื่อย ๆ มันก็จะร่วมมือด้วย ถ้าคุณแสดงให้มันเห็นว่าอะไรบ้างที่คุณอยากให้มันทำ
- อยู่นิ่ง ๆ
- ขั้นต่อไปคือการฝึกสุนัขให้อยู่นิ่ง ๆ ในท่านั่งหรือหมอบ เหมือนกับครั้งก่อนโดยใช้ตัวนำสอนคำสั่งนี้ จนกระทั่งสุนัขของคุณตอบรับคำสั่งด้วยการทำตามคำสั่ง แล้วจึงเอาตัวนำออก การฝึกเริ่มด้วยการนั่งนิ่ง ๆ จัดให้สุนัขอยู่ในท่านั่งข้างคุณในท่านั่งแนบขาโดยอัตโนมัติ ถือเชือกในมือข้างหนึ่ง (ส่วนใหญ่ผู้ฝึกชอบถือมือซ้าย) ก้าวไปข้างหน้าแล้วหันหน้ามาหามัน ยื่นมือออกไป นิ้วชี้ไปที่ช่วงจมูกของมันแล้วสั่งว่า "อยู่นิ่ง" ถ้ามันทำท่าจะเดินตามคุณเนื่องจากเป็นธรรมชาติของมันที่จะทำ เพราะมันอยู่ในท่าที่จะตาม ให้กระตุกตัวนำ เพื่อให้มันกลับมานั่งก่อน ยกมือมาไว้ข้างหน้ามันแล้วทวนคำสั่งอย่างหนักแน่นอีกรั้ง ให้มันอยู่ในท่านั่งนั้นสัก 2-3 วินาที ก่อนจะให้ลงมือปฏิบัติการอย่างอื่น แต่ละครั้งที่มันทำสำเร็จคุณต้องกล่าวชมมันเรื่อย ๆ แสดงให้มันเห็นว่าคุณพอใจกับมันด้วย
- ทวนวิธีนี้อีกครั้งจนกระทั่งสุนัขของคุณทำเหมือนกับว่ามันเข้าใจว่าคุณจะให้มันทำอะไร เมื่อมันได้เรียนรู้ตลอดกระบวนการแล้ว เดินออกมาทางขวาของสุนัขอ้อมไปข้างหลัง ก้าวอีก 2 ก้าวไปข้างหน้า อีกสัก 2-3 ก้าวไปด้านข้าง ทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งคุณไปจนสุดสายเชือก ครั้งใดที่สุนัขจะออกตามคุณ สะบัดเชือกยื่นแขนออกโบกมือลงแล้วออกคำสั่งอย่างเฉียบขาด เมื่อมันแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจที่อยู่ในท่าที่ถูกต้อง ขณะที่คุณเดินออกไปสุดเชือกนั่นหมายถึงคุณพร้อมที่จะฝึกมันต่อไปอีก ให้อยู่ในท่าเดิมโดยใช้เชือกยาวกว่าเดิม (ราว ๆ 25-30 ฟุต) แล้วท้ายสุดให้ฝึกโดยการเอาเชือกออก
- ครั้งแรก ๆ ที่เรียนรู้การนั่งนิ่ง ๆ คุณสามารถจะสอน "หมอบนิ่ง ๆ" โดยเริ่มคำสั่งด้วยคำว่า "หมอบ" ก่อน แล้วฝึกโดยใช้วิธีเดียวกับฝึกนั่งนิ่ง ๆ
- คำสั่ง "มานี่"
- คุณสามารถฝึกสุนัขให้มาหาคุณเมื่อคุณเรียกได้ ถ้าเริ่มต้นกับมันตั้งแต่มันเด็ก ๆ แรกเริ่ม ฝึกสอนล่ามตัวนำอยู่ในสุนัขนั่ง แล้วย้อนเชือกกลับมาพร้อมเรียกชื่อมัน ให้เรียกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดึงตัวนำนิดหน่อยเพื่อให้มันเริ่ม เมื่อมันเดินมาให้ส่งเสียงชมมันดัง ๆ หรืออาจใช้อีกวิธีโดยการให้ขนมสำหรับสุนัขหรือผลไม้เป็นรางวัล มันจะนึกรู้ทันที คุณอาจจะเดินออกมาจนสุดตัวนำแล้วเรียกมัน เช่น "แดงมานี่" วิ่งไปสองสามก้าวแล้ว, หยุดให้มันมาอยู่ตรงหน้า (แดงคือชื่อของมัน)
- ไม่ต้องอยากฝึกคำสั่งนี้โดยไม่มีตัวนำ เพราะแรก ๆ มันอาจจะคิดว่ามันไม่ต้องเชื่อฟังคำสั่งคุณอีกแล้วก็ได้ และมันก็จะวิ่งหนีไป โปรแกรมการฝึกของคุณก็ต้องล้มเหลว ระลึกไว้ว่าชีวิตสุนัของคุณนั้นอาจจะขึ้นอยู่กับการสนองตอบต่อคำสั่งให้มาหาโดยทันทีเมื่อถูกเรียก ถ้ามันไม่เชื่อฟังเวลาไม่ได้ล่ามไว้ ให้ล่ามมันอีก แล้วแก้ไขให้กลับมาเชื่อฟังโดยการใช้ตัวนำ
- สอนให้มานี่ เพื่อจะตามมา
- หัวเรื่องนี้ คือสำหรับคุณเมื่อยืนอยู่ สั่งว่า "ตามมา" สุนัขของคุณเดินตามอ้อมทางขวาแล้วนั่งอยู่ข้างเข่าซ้ายของคุณในท่านั่ง ถ้าหากสุนัขของคุณไม่ได้ถูกฝึกให้นั่งโดยไม่มีคำสั่งทุก ๆ ครั้งที่คุณหยุด มันก็ผ่านสำหรับขั้นนี้ให้มันนั่งอยู่หน้าคุณ มองหน้ามันแล้วถอยหลังไปหนึ่งก้าว เคลื่อนเฉพาะเท้าซ้าย ดึงสุนัขมาอยู่ด้านหลังคุณและก้าวตรงไปรวมทั้งดึงมันไปรอบ ๆ จนกระทั่งมันอยู่ในท่าตาม คุณอาจทำให้สุนัขเดินไปรอบ ๆ ได้โดยอ้อมตัวนำไปข้างหลัง ใช้ส้นเท้าซ้ายดันมันออกถ้ามันเริ่มจะนั่งหรือค้อมตัวลง การฝึกนี้อาจต้องได้เหงื่อนิดหน่อย แต่มันจะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ถ้าทำให้มันรู้ว่าคุณอยากให้มันทำอะไร
- ยืน
- สุนัขของคุณควรจะถูกฝึกให้ยืนในจุดเดียวโดยไม่มีการเคลื่อนไหว ยอมให้คนแปลกหน้าโบกมือไปมาอยู่เหนือใบหน้าและหัว หรือปัดไปมาแถวขาโดยไม่มีความกลัวหรือแสดงออกใด ๆ ทั้งสิ้น ใช้วิธีเดียวกับคุณที่เคยฝึกมันให้นั่งหรือหมอบขณะเดิน ยื่นมือซ้ายออกไป โบกอยู่ตรงแถว ๆ จมูก พร้อมกับออกคำสั่งให้มันอยู่นิ่ง ๆ ครั้งแรกมันจะคิดว่าคุณให้มันนั่ง แต่คุณต้องหยุดมันด้วยการเอามือสอดไปใต้ลำตัวมันใกล้กับช่วงท้องและจับไว้ จนกระทั่งมันนึกรู้ว่านี่ต่างจากการออกคำสั่งให้นั่ง ชมมันอีกเวลามันยืนเฉย ๆ แล้วคุณก็เดินไปจนสุดสายตัวนำ รีบแก้ไขอย่างรวดเร็วถ้าหากมันทำท่าจะเคลื่อนไหว โดยให้คนแปลกหน้าเข้ามา ใกล้ ๆ มัน แล้วก็โบกมือไปมาเหนือหลังหรือแถว ๆ ขา ให้มันยืนนิ่ง ๆ จนกระทั่งคุณกลับมาหามัน นี่เป็นการฝึกและออกกำลังที่มีค่าถ้าหากคุณมีแผนที่จะโชว์สุนัขของคุณ มันจะต้องเรียนรู้ที่จะยืนท่าโชว์ และลองให้กรรมการตัดสิน กรรมการก็จะโบกมือไปมาบนหลังและแถวขามัน ก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้สุนัขยืนอย่างสุขุมและมั่นคง