ความเป็นมาของการประกวดหนังสือดีเด่น

ในปี พ.ศ. 2515 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือชื่อย่อว่า "ยูเนสโก" ได้ประกาศให้ปี พ.ศ. 2515 เป็น "ปีหนังสือสากล" หรือ "ปีหนังสือระหว่างชาติ" (International Book Year 1972) โดยเหตุผลที่ว่าหนังสือมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญของสังคมและบุคคล ทั้งเป็นสื่อที่ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างชนในชาติต่างๆ ยูเนสโกได้ขอความร่วมมือให้บรรดาประเทศสมาชิกร่วมฉลองปีหนังสือสากล 2515 ด้วยการจัดกิจกรรมอันเหมาะสมประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การยูเนสโก ประเทศไทยได้ดำเนินงานโครงการประกวดหนังสือดีเด่น ซึ่งเริ่มในปี พ.ศ. 2515 เป็นโครงการที่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยรับผิดชอบดำเนินการ และคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติได้รับช่วงดำเนินการต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 จนถึงปัจจุบัน โดยช่วงแรกคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ

หลักเกณฑ์ทั่วไปในการประกวดหนังสือดีเด่น

ผู้มีสิทธิ์ส่งหนังสือเข้าประกวด ได้แก่ สำนักพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ผู้จัดทำภาพประกอบ ผู้ออกแบบและจัดทำรูปเล่ม ผู้จัดพิมพ์ บรรณารักษ์ ส่วนราชการ สมาคม และผู้สนใจทั่วไป

หนังสือที่ส่งเข้าประกวด แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มหนังสือสารคดี (มิใช่ตำราเรียนหรือหนังสือเรียน หรือหนังสือที่มีวัตถุประสงค์โดยเฉพาะจะให้เป็นตำราหรือหนังสือเรียน)

2. กลุ่มหนังสือนวนิยาย

3. กลุ่มหนังสือกวีนิพนธ์

4. กลุ่มหนังสือรวมเรื่องสั้น

5. กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเริ่มหัดอ่าน อายุ 3-5 ปี

6. กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 6-11 ปี

  หนังสือบันเทิงคดี

  หนังสือสารคดี

7. กลุ่มหนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี

  หนังสือบันเทิงคดี

  หนังสือสารคดี

  หนังสือร้อยกรอง

8. กลุ่มหนังสือการ์ตูน และ/หรือ นิยายภาพ

9. กลุ่มหนังสือสวยงาม

  หนังสือสวยงามทั่วไป

  หนังสือสวยงามสำหรับเด็ก